ชื่อ เบนซีน (Benzene) ||||| ชื่ออื่น Phenyl hydride, Cyclohexatriene, 1,3,5-Cyclohexatriene, Cyclohexa-1,3,5-triene, Benzohexatriene, Benzol, Pyrobenzole, Coal naphtha
สูตรโมเลกุล C6H6 ||||| น้ำหนักโมเลกุล 78.1 ||||| CAS Number 71-43-2 ||||| UN Number 1114
ลักษณะทางกายภาพ ของเหลว ไม่มีสี มีกลิ่นหอมอโรมาติก ระเหยเป็นไอได้ง่าย
คำอธิบาย เบนซีน (Benzene) เป็นตัวทำละลายกลุ่มอโรมาติกชนิดหนึ่ง ลักษณะใสไม่มีสี ที่ความเข้มข้นต่ำๆ จะมีกลิ่นหอม ในอดีตนิยมใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมหลายชนิด สารเบนซีนมีคุณสมบัติกดไขกระดูก และก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาวในมนุษย์ ปัจจุบันจึงมีการใช้น้อยลง แต่ยังสามารถพบได้ในอุตสาหกรรมบางประเภท และการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
ค่ามาตรฐานในสถานที่ทำงาน ACGIH TLV – TWA 0.5 ppm, STEL 2.5 ppm ||||| NIOSH REL – Ca, TWA 0.1 ppm, STEL 1 ppm ||||| OSHA PEL – TWA 1 ppm, STEL 5 ppm ||||| IDLH 500 ppm ||||| กฎหมายแรงงานไทย TWA 10 ppm, Ceiling 25 ppm, Maximum 50 ppm in 10 minutes
ค่ามาตรฐานในสิ่งแวดล้อม EPA NAAQS – N/A ||||| กฎหมายสิ่งแวดล้อมไทย – มาตรฐานค่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศทั่วไปในเวลา 1 ปี ต้องไม่เกิน 1.7 ug/m3
ค่ามาตรฐานในร่างกาย ACGIH BEI – S-Phenylmercapturic acid ในปัสสาวะหลังเลิกงาน 25 ug/g Cr, t,t-Muconic acid ในปัสสาวะหลังเลิกงาน 500 ug/g Cr
คุณสมบัติก่อมะเร็ง IARC Group 1 ||||| ACGIH A1 Carcinogenicity
แหล่งที่พบในธรรมชาติ
- โดยปกติไม่พบในธรรมชาติทั่วไป เบนซีนเป็นส่วนผสมหนึ่งอยู่ในน้ำมันดิบ เป็นผลผลิตที่ได้จากกระบวนการปิโตรเคมี แต่อาจพบปนเปื้อนในธรรมชาติได้ [1]
- สามารถพบได้ในมวนบุหรี่ [1]
อุตสาหกรรมที่ใช้
- เป็นสารที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมัน แก๊สธรรมชาติ และน้ำมันดิน
- เป็นส่วนผสมอยู่ในน้ำมันแก๊สโซลีน (gasoline)
- ในอดีตเป็นตัวทำละลายที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น สี หมึก ทินเนอร์ ยาฆ่าแมลง น้ำยาลบสี แต่เนื่องจากมีคุณสมบัติก่อมะเร็ง ทำให้ปัจจุบันมีการใช้เบนซีนเป็นตัวทำละลายในผลิตภัณฑ์ต่างๆ น้อยลง ผู้ผลิตส่วนใหญ่จะเปลี่ยนมาใช้ตัวทำละลายตัวอื่นที่ปลอดภัยกว่า เช่น toluene หรือ xylene แทน อย่างไรก็ตามในผลิตภัณฑ์บางประเภทก็ยังอาจมีการใช้เป็นส่วนผสมอยู่ (จะทราบได้ต้องดูที่ฉลากส่วนผสมเป็นสำคัญ) โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือนหากผลิตจากผู้ผลิตที่มีคุณภาพจะไม่มีการใช้สารเบนซีน [2] ในหลายประเทศมีการออกกฎหมายห้ามใช้เบนซีนผสมในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน [3]- เป็นสารตัวกลาง (intermediate) ในการผลิตสารเคมีอื่นหลายชนิด เช่น styrene, phenol, cyclohexane, สารเคมีที่ใช้ในการผลิตสารซักฟอก, ยาฆ่าแมลง, ยา, น้ำหอม, วัตถุระเบิด และน้ำยาลบสี [1, 3]- ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่มีการดำเนินการด้านสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน หรือโรงงานขนาดเล็กที่ไม่มีคุณภาพ เรายังอาจพบมีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีเบนซีนผสมอยู่ได้ เช่น โรงงานรองเท้าที่ใช้กาวที่มีเบนซีน กิจการซักรีดที่ใช้น้ำยาซักแห้งที่มีเบนซีน โรงงานเหล่านี้หากมีการพัฒนาคุณภาพด้านความปลอดภัยของพนักงานแล้ว ในปัจจุบันมักจะเปลี่ยนมาใช้ตัวทำละลายอื่นที่ปลอดภัยกว่าแทน เช่น toluene, xylene, methyl ethyl ketone (MEK) เป็นต้น- เนื่องจากเป็นส่วนผสมอยู่ในน้ำมันแก๊สโซลีน ทำให้คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับน้ำมันและรถ เช่น พนักงานโรงกลั่น เด็กปั๊ม ช่างซ่อมรถ ตำรวจจราจร เสี่ยงได้รับสัมผัสในการทำงานไปด้วย- เบนซีน (benzene) มักถูกเรียกสับสนกับน้ำมันเบนซิน (benzine) สองอย่างนี้มีความแตกต่างกัน เบนซีนเป็นตัวทำละลายชนิดหนึ่งและเป็นส่วนผสมในน้ำมัน ส่วนเบนซินเป็นชื่อของสูตรน้ำมัน (เช่นเดียวกับชื่อ ดีเซล แก๊สโซฮอล์ โซล่า เหล่านี้เป็นต้น)
กลไกการก่อโรค ออกฤทธิ์กดระบบประสาทเช่นเดียวกับตัวทำละลายกลุ่มอโรมาติกตัวอื่นๆ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ กลไกการก่อมะเร็งเชื่อว่าเกิดจากสารเมตาโบไลต์ที่เป็นพิษของเบนซีนคือ benzene epoxide [3]
การเตรียมตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เบนซีนเป็นสารไวไฟ ระเหยได้ดีมาก (NFPA Code: H2 F3 R0) เมื่อลุกไหม้อาจเกิดการระเบิดได้ง่าย ไอของสารนี้หนักกว่าอากาศ การเข้าไปกู้ภัยชุดที่ใช้ต้องทนไฟ และเนื่องจากเป็นสารก่อมะเร็ง ระดับของชุดควรเป็นชุดป้องกันชนิดที่มีถังบรรจุอากาศในตัว (Self-contained breathing apparatus, SCBA) เท่านั้น
อาการทางคลินิก
- อาการเฉียบพลัน ทางเข้าสู่ร่างกายของเบนซีนนั้น สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางการหายใจ ทางการกิน และซึมผ่านผิวหนัง หากได้รับเข้าไปปริมาณมากจะมีฤทธิ์กดสมองอย่างทันทีทันใด ทำให้ปวดหัว คลื่นไส้ วิงเวียน จนถึงชัก และโคม่าได้ ฤทธิ์ระคายเคืองเยื่อบุจะทำให้เคืองตา จมูก คอ ไอ แน่นหน้าอก และอาจมีปอดบวมน้ำ ฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ (ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจไวต่อฤทธิ์ของ catecholamine เพิ่มขึ้น) หัวใจจึงเต้นเร็วผิดปกติ การสัมผัสทางผิวหนังทำให้ผิวหนังไหม้ เป็นผื่นแดงอักเสบได้- อาการระยะยาว การสัมผัสในระยะยาวมีผลกดไขกระดูก ทำให้เกิดความผิดปกติทางระบบเลือดได้คือ pancytopenia, aplastic anemia และที่สำคัญคือก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด acute myelogenous leukemia (AML) นอกจากนี้ยังมีรายงานพบความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด chronic myelogenous leukemia (CML), multiple myeloma (MM), Hodgkin’s disease และภาวะ paroxysmal nocturnal hemoglobinuria อีกด้วย ส่วนการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการสัมผัสเบนซีนกับมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด acute lymphoblastic leukemia (ALL), ภาวะ myelofibrosis และมะเร็งน้ำเหลือง (lymphoma) ยังไม่มีพบความสัมพันธ์ที่ชัดเจน [2]
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- การตรวจเพื่อยืนยันการสัมผัสทำได้หลายอย่าง คือ 1) ระดับ phenol ในปัสสาวะ 2) ระดับ t,t-muconic acid (TTMA) ในปัสสาวะ 3) ระดับ s-phenylmercapturic acid (S-PMA) ในปัสสาวะ และ 4) ระดับเบนซีนในเลือด (blood benzene)
- การตรวจระดับ phenol ในปัสสาวะเป็นเมตาโบไลต์ที่สามารถตรวจเพื่อบ่งชี้การสัมผัสเบนซีนในระดับสูงได้ดี (เมื่อระดับเบนซีนในอากาศสูงกว่า 5 ppm) แต่มีปัจจัยรบกวนจาก 1) ผู้ที่สูบบุหรี่ 2) ผู้ที่ทำงานสัมผัสสาร phenol และ 3) การกินอาหารบางอย่างที่ได้เมตาโบไลต์เป็น phenol เช่น เนื้อรมควัน ปลารมควัน ในปัจจุบันนี้องค์กร ACGIH ได้ยกเลิกการใช้ phenol ในปัสสาวะเป็นตัวบ่งชี้การสัมผัสสาร เบนซีนแล้ว เนื่องจากเหตุผลความจำเพาะต่ำ และค่ามาตรฐานระดับเบนซีนในอากาศของประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ก็ลดลง (จนระดับเบนซีนในอากาศมักจะต่ำกว่า 5 ppm) ผลจากการสัมผัสเบนซีนในระดับที่ต่ำลงทำให้ค่า background phenol ในปัสสาวะคนทั่วไปสูงกว่าค่า phenol ที่เกิดจากการสัมผัสในงาน ทำให้นำมาแปลผลไม่ได้ อย่างไรก็ตามหากพบสถานที่ทำงานใดที่มีระดับเบนซีนในอากาศสูงมาก (มากกว่า 5 ppm) ก็ยังพอสามารถให้การตรวจนี้เป็นตัวบ่งชี้การสัมผัสเบนซีนได้ [4]- การตรวจ TTMA ในปัสสาวะ ซึ่งเป็นการตรวจที่จำเพาะมากขึ้นจึงเข้ามาแทนที่การตรวจ phenol ในปัจจุบัน การตรวจ TTMA นี้เหมาะสำหรับบ่งชี้การสัมผัสเบนซีนแม้ว่าระดับเบนซีนในอากาศจะต่ำก็ตาม แต่อาจมีผลบวกลวงได้จาก 1) ผู้ที่สูบบุหรี่ 2) ผู้ที่กินอาหารที่มี sorbic acid เป็นสารกันบูด (มักพบในอาหารที่ต้องการกันไม่ให้ราขึ้น เช่น ชีส น้ำเชื่อม เยลลี่ เค้ก ผลไม้อบแห้ง) อีกทั้งมีค่าครึ่งชีวิตในปัสสาวะสั้นเพียง 5 ชั่วโมง จึงต้องระมัดระวังในการแปลผล TTMA อย่างมากเช่นกัน [4]- การตรวจ S-PMA ในปัสสาวะเป็นการตรวจที่จำเพาะขึ้น เนื่องจากสารนี้ไม่เกิดขึ้นจากการกินอาหาร จึงไม่ถูกปัจจัยรบกวนจากการกินอาหารประเภทต่างๆ แต่ยังอาจมีผลบวกลวงได้ในคนที่สูบบุหรี่เช่นกัน ค่าครึ่งชีวิตของสารนี้ในปัสสาวะเท่ากับ 9 ชั่วโมง ทำให้เหมาะที่จะเก็บตรวจหลังเลิกกะ [4] อย่างไรก็ตามปัจจุบัน (พ.ศ. 2554) ยังไม่มีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจสารนี้ได้ในประเทศไทย- การตรวจ blood benzene เป็นการตรวจยืนยันการสัมผัสที่ดี เนื่องจากมีความจำเพาะกับการสัมผัสสารเบนซีนสูงสุด ถ้าให้ได้ผลดีต้องตรวจหลังการสัมผัสไม่นานมาก เนื่องจากเบนซีนค่าครึ่งชีวิตในเลือดเพียงประมาณ 8 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามยังอาจมีผลบวกลวงจากการสูบบุหรี่ได้เช่นกัน [4]กรณีสงสัยเป็นโรคพิษเบนซีนเฉียบพลัน การวินิจฉัยให้ขึ้นกับประวัติและการตรวจร่างกายเป็นสำคัญ การตรวจเพื่อยืนยันการสัมผัสที่มีประโยชน์ถ้าทำได้คือระดับเบนซีนในเลือด (blood benzene) ซึ่งต้องเจาะตรวจหลังจากสัมผัสทันที แต่มีข้อจำกัดคือพบผลบวกลวงในผู้ที่สูบบุหรี่จัดได้ การตรวจที่ช่วยในการรักษาอื่นๆ คือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ภาพรังสีทรวงอก (Chest X-ray) ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ระดับเกลือแร่ในเลือด (electrolyte) การทำงานของตับ (liver function test) และการทำงานของไต (BUN, creatinine) [2]- การตรวจที่ช่วยในการวินิจฉัยและรักษาในกรณีพิษเบนซีนเรื้อรัง คือการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count, CBC) ซึ่งอาจพบค่าระดับเม็ดเลือดทั้งเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกร็ดเลือดสูงขึ้นก่อนในระยะแรก ก่อนจะเกิดภาวะ aplastic anemia ตามมา [2]
การดูแลรักษา
- ปฐมพยาบาล กรณีสารเคมีรั่วไหล นำผู้ป่วยออกจากจุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุด ให้อยู่ในที่อากาศถ่ายเท ถอดเสื้อผ้าออก ล้างตัวด้วยน้ำเปล่าให้มากที่สุด ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วย สังเกตสัญญาณชีพ ใส่ท่อช่วยหายใจถ้าไม่หายใจ ให้ออกซิเจนเสริม
- การรักษาระยะเฉียบพลัน ทำการล้างตัว (decontamination) ทั้งที่จุดเกิดเหตุและที่โรงพยาบาล ช่วยการหายใจ ให้ออกซิเจน ถ้ามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โคม่า หรือปอดบวมน้ำ ให้รักษาตามอาการที่เกิดขึ้น หลีกเลี่ยงการให้ยากลุ่ม adrenergic agents เช่น epinephrine เพราะจะทำให้อาการหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะแย่ลง ควรสังเกตอาการโดยเฉพาะเรื่องหัวใจเต้นผิดจังหวะและปอดบวมน้ำอย่างน้อย 12 – 24 ชั่วโมงหลังการสัมผัสเบนซีน ไม่มียาต้านพิษ (antidote) สำหรับเบนซีน
- การดูแลระยะยาว เนื่องจากสารนี้เป็นสารก่อมะเร็ง จึงต้องดูแลผู้ที่สัมผัสสารนี้ในระยะยาวด้วย โดยการรีบจัดทำทะเบียนผู้สัมผัส ให้ความรู้ถึงอันตรายระยะยาวของสารนี้แก่ผู้สัมผัสทุกคน รวมถึงหน่วยกู้ภัยและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีแนวโน้มปนเปื้อนการสัมผัสด้วย
การเฝ้าระวัง กรณีอุบัติภัยสารเคมีต้องรีบทำทะเบียนผู้สัมผัสสารนี้ให้ครบถ้วน เนื่องจากเป็นสารก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาว ควรทำการตรวจติดตามผู้สัมผัสสารเหล่านี้ไปอย่างน้อย 10 – 20 ปี ทำการตรวจ complete blood count (CBC) อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อดูระดับและรูปร่างเม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือด ซักประวัติความผิดปกติทางระบบเลือด เช่น เลือดออกง่าย จ้ำเลือดตามตัว ถ้าผิดปกติต้องรีบส่งไปตรวจวินิจฉัยยืนยัน
อ้างอิง http://www.summacheeva.org/index_thaitox_benzene.htm
นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์ (31 พฤษภาคม 2555)
อะไรในรถบ้างที่ปล่อย เบนซีน
เรียกได้ว่า ชิ้นส่วนภายในทั้งหมดสามารถปล่อยเบนซีนได้หมดเลย พวกน้ำยาแว๊กซ์หนัง ไวนิล พวกนี้ล้วนปล่อยออกมาทั้งหมดเลยครับ
แล้วจะป้องกันยังไง
1. พยายามไม่จอดรถตากแดด
2. ลดกระจกลงในขณะขึ้นรถแรกๆ และขับไปพอสมควรแล้วค่อยเอากระจกขึ้น
3. ในระหว่างขับรถ พยายามเลือกช่วงที่ควันรถด้านนอกไม่มีควันมาก ลดกระจกลงเพื่อ เอาอากาศบริสุทธิ์ เข้ามาในตัวรถบ้าง
4. หลังจากล้างรถและลงแว็กซ์เสร็จแล้วให้เปิดประตูหรือเปิดกระจกทิ้งไว้ ให้อากาศถ่ายเท
เพียงเท่านี้คุณก็จะลดปัญหาสุขภาพลงไปได้อีกเยอะเลยครับ